Sunday, August 26, 2007

จม.ฉบับสุดท้ายจากท่านแม่ถึงอิ๊กคิวซัง

๕๔. พินัยกรรมและคำสั่งเสียฉบับสุดท้าย
(แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ 
ที่มา: http://www.ashidakim.com/zenkoans/54thelastwillandtestament.html)
อิ๊กคิว ผู้เป็นอาจารย์สอนเซนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในยุคอะชิคะกะของญี่ปุ่น(๑) นั้น ความจริงแล้วมีฐานะเป็นพระโอรสองค์หนึ่งขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิ
ท่านแม่ของอิ๊กคิวได้ออกจากราชสำนักและได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมแบบเซนในวัดแห่งหนึ่งตั้งแต่อิ๊กคิวยังอายุน้อย ดังนั้น อิ๊กคิวจึงได้มีโอกาสศึกษาเซนไปพร้อม ๆ กันด้วย เมื่อท่านแม่ของอิ๊กคิวกำลังจะจากอิ๊กคิวไปในวาระสุดท้ายนั้น ท่านได้ทิ้งจดหมายไว้ให้อิ๊กคิวฉบับหนึ่ง มีใจความว่า
 
ถึง อิ๊กคิว

     แม่ได้หมดหน้าที่ในภพชาตินี้แล้ว และกำลังจะกลับไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง แม่หวังว่าเจ้าจะเป็นผู้ที่หมั่นเพียรศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อที่เจ้าจะสามารถเข้าถึงความเป็นพุทธะได้ ซึ่งถ้าเจ้าทำได้แล้ว เจ้าก็จะทราบเองว่า แม่ไปอยู่ที่ไหน ไปตกนรกอยู่หรือไม่ หรือว่าคอยอยู่เคียงข้างเจ้าอยู่เสมอ
 

     เมื่อใดก็ตามที่เจ้าได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์คนหนึ่งที่สามารถตระหนักรู้ได้ ว่า พระพุทธองค์ก็ดี และพระสาวก เช่น พระโพธิธรรม ก็ดี แท้ที่จริงแล้วคือผู้ที่คอยช่วยเหลือรับใช้เจ้า(๒) เจ้าก็สามารถเลิกศึกษาเล่าเรียนและเริ่มออกรับใช้มนุษยชาติได้ อนึ่ง พระพุทธองค์ทรงออกโปรดสัตว์โลกอยู่เป็นเวลาถึง ๔๙ พรรษา และตลอดเวลานั้นพระองค์ไม่ทรงเห็นความจำเป็นของการต้องเอ่ยปากพูดแม้แต่เพียงคำเดียว(๓) เจ้าควรจะทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด หากเจ้ายังไม่ทราบ แต่อยากจะทราบล่ะก็ จงหลีกเลี่ยงการขบคิดฟุ้งซ่านเสีย
 
                                                  แม่ของเจ้า,
                                                  ไม่เกิด, ไม่ตาย
                                                                   เดือนเก้า วันที่ ๑
 
ป.ล. คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีไว้เพื่อให้ความรู้แจ้งแก่ผู้อื่น(๔) ถ้าเจ้ายังต้องมัวคอยพึ่งวิธีการใดวิธีการหนึ่งในนั้นแล้วล่ะก็ เจ้าก็ไม่ต่างอะไรไปกับแมลงอันไม่รู้เหนือรู้ใต้ตัวหนึ่งเท่านั้น พระไตรปิฎกนั้นมีจำนวนมากกว่า ๘๐,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หากเจ้าอ่านหมดทุกพระธรรมขันธ์แล้วแต่ยังไม่สามารถอ่าน “ใจ” ของตัวเจ้าเองได้ล่ะก็ เจ้าก็จะไม่สามารถอ่านแม้กระทั่งจดหมายฉบับนี้ได้รู้เรื่องเช่นกัน นี่คือพินัยกรรมและคำสั่งเสียของแม่












แปลถวายท่านว.วชิรเมธี
เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้เขียน
เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณคุณแม่
ที่ให้กำเนิด และเป็นครูคนแรก ทั้งทางโลก และทางธรรม
 

(๑) อยู่ในช่วงค.ศ. ๑๓๓๖-ค.ศ. ๑๕๗๓
(๒) กำลังรอตรวจเช็คจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น คาดว่าอาจจะแปลอีกอย่างได้ด้วย เป็น “แท้ที่จริงแล้วไม่ต่างอะไรไปจากคนรับใช้ของเจ้า” ในความหมายที่คล้าย ๆ กับว่า ไม่ยึดติด สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เหมือนที่พระพุทธองค์เคยตรัสว่าทรงเมตตาพระราหุล กับพระเทวทัต เท่า ๆ กัน
(๓) เป็นคติความเชื่อของเซนว่า การถ่ายทอดธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากพูดก็สามารถทำได้ และเซนมักอ้างถึงการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมลักษณะนี้ครั้งแรกด้วยการทรงยกดอกไม้ขึ้นมาดอกหนึ่ง แล้วมีพระมหากัสสปะแสดงกิริยาว่าเข้าใจอยู่องค์เดียว ด้วยการยิ้มรับ
(๔) ในที่นี้ น่าจะหมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมตามแนวลัทธิเซน โดยเซนนั้นจะเน้นปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือ ให้มีสติตื่นรู้อยู่กับ "ปัจจุบันขณะ" ตลอดเวลา